+66 81 692 3961
leesic@gmail.com
  


18 ปีแห่งการจากไปของ “จรัล มโนเพ็ชร” กับ 6 เรื่องราวน่ารู้ของราชาโฟล์กซองคำเมืองผู้ยิ่งใหญ่ 18 ปีแห่งการจากไปของ “จรัล มโนเพ็ชร” กับ 6 เรื่องราวน่ารู้ของราชาโฟล์กซองคำเมืองผู้ยิ่งใหญ่ 18 ปีแห่งการจากไปของ “จรัล มโนเพ็ชร” กับ 6 เรื่องราวน่ารู้ของราชาโฟล์กซองคำเมืองผู้ยิ่งใหญ่


 2019-09-03 20:41:34

    

 

เมื่อพูดถึงจังหวัดเชียงใหม่หรือภูมิภาคล้านนา สิ่งที่เรานึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ก็คงจะหนีไม้พ้นรถแดง อากาศเย็น ยอดดอยสูง หรือสาวสวยผิวขาวอู้คำเมือง ฯลฯ หากแต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มักจะผุดลอยขึ้นมาเคียงคู่กับสิ่งเหล่านั้นด้วยเสมอ นั่นคือบทเพลงของศิลปินระตำนานท่านหนึ่งที่มีนามว่า จรัล มโนเพ็ชร’ ที่ล้วนแล้วแต่แฝงไปด้วยความละเมียดละไมทางภาษา เสียงดนตรีอันสวยงาม ไพเราะ และรื่นหู และไม่ว่าเราจะเป็นคนเมืองเหนือหรือชื่นชอบเพลงโฟล์กซองเป็นพิเศษหรือไม่ก็ตาม แต่เชื่อเถอะ ต้องมีอย่างน้อยสักเพลงของ “จรัล มโนเพ็ชร” ที่ติดหูของเราจนสามารถฮัมเนื้อร้องทำนองเพลงออกมาได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว

 

“ข้าเจ้าเป็นสาวเจียงใหม่…”

“อ้ายคนจน จ๋ำต้องทนปั่นรถถีบ…”

“ปี้สาวครับ ตอนนี้ผมเป็นหนุ่มแล้วครับ…”

“อย่ากลับคืนคำเมื่อเธอนั้นสัญญา…” และอีกมากมาย

 

แม้วันนี้ ‘จรัล มโนเพ็ชร’ เจ้าของบทเพลงโฟล์กซองคำเมืองจะจากโลกนี้ไปแล้วกว่า 18 ปี ( 3 กันยายน 2544) แม้นร่างกายจะลาจาก หากแต่บทเพลงไพเราะของเขายังคงดังก้องอยู่ในใจของเรามิรู้ลืม และยังคงถูกบรรเลงให้เราได้ยินผ่านหูจวบจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการรำลึกถึงศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ เราจึงขอรวบรวมเกร็ดเรื่องราวน่ารู้ของคีตกวีล้านนาท่านนี้มาให้ทุกคนได้อ่านกันครับ

 

“นักรบทางวัฒนธรรม” คือหนึ่งในฉายาที่โด่งดังที่สุดของเขา

เพลงหรือดนตรีเป็นสื่อเก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งที่มนุษย์ใช้สื่อสารและถ่ายทอดวัฒนธรรม ซึ่ง ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ได้ใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือ (อาวุธ) ในการสะท้อนให้คนฟังได้เห็นและเข้าใจรากเหง้าของวัฒนธรรมล้านนา ไม่ว่าจะเป็นการกิน การพูด การแต่งกาย และความเป็นอยู่ ที่ตอกย้ำให้คนล้านและคนภาคอื่นได้เรียนรู้ผ่านบทเพลงโฟล์กซองคำเมืองของเขา ซึ่งถือเป็นการเปิดนิมิตรใหม่ให้กับเพลงคำเมือง และยังเป็นการประกาศศักดิ์ศรีให้กับคนล้านนา ให้รู้สึกภาคภูมิใจในบ้านเกิด และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ของตน จนทำให้คนเมือง (ล้านนา) ที่อยู่ในกรุงเทพฯ เริ่มกล้าพูดภาษาถิ่นของตนเองมากขึ้น และไม่เคอะเขินที่จะบอกว่าตนมาจากถิ่นฐานใด

 

ภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองของตัวเองอย่างมาก

จรัลเป็นคนที่มีตำแหน่งแห่งที่ พ่อทำงานชลประทาน มีหน้ามีตา รายได้ดี แม่ก็เป็นเจ้า ซึ่งสืบตระกูลมาจาก “ณ เชียงใหม่” ทำให้จรัลมีความมั่นใจในตัวเองสูง และรู้สึกภูมิใจในความเป็น “คนเมือง” (ภาคเหนือ) จากคำบอกเล่าของ อ.ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้กล่าวว่า “เวลาพูดเรื่องความเป็นคนเมือง เรื่องล้านนา เรื่องความเป็นมาของท้องถิ่น ตาแกจะเป็นประกาย มีความสุข พูดแบบไม่ก้มหน้า ไม่กลัวใคร เวลาไปแสดงดนตรีที่กรุงเทพฯ แกจะอู้คำเมืองตลอด ไม่เคยพูดไทยกลางเลย จึงพูดได้ว่า อ้ายจรัลเป็นคนที่มีความหยิ่งทะนงในความเป็นคนเมือง เป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นท้องถิ่นที่สร้างให้ตัวเองเกิดขึ้นมา”

 

เคยฉีกแนวทางดนตรีของตนเอง

แน่นอนว่าเราคงทราบกันดีถึงฝีไม้ลายมือในการแต่งเพลงของเขา และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ฉายแววความเป็นอัจฉริยภาพทางดนตรีออกมา เขาฉีกแนวทางดนตรีของตนเองจากโฟล์กซองฟังสบายที่มีกลิ่นอายท้องถิ่น มาสู่อัลบั้ม “จรัลแจ๊ส” ที่มาพร้อมดนตรีป็อปแจ๊สร่วมสมัยซึ่งเต็มไปด้วยเพลงจังหวะสนุกและความซับซ้อนทางดนตรี แม้อัลบั้มนี้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ก็ทำให้เราได้เห็นจรัลในมุมใหม่ที่ต่างออกไป

 

“ใบไม้ไหว” คือบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองด้วยสันติวิธี

นักฟังเพลงหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับ ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ในบทเพลงที่บรรยายความสุขสงบ ความงามของวิถีชาวบ้าน และสะท้อนสังคมในแง่มุมต่างๆ แต่กระนั้นก็ใช่ว่าเขาจะละเลยเรื่องราวทางการเมืองไปเสีย ซึ่งหนึ่งในเพลงที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ “ใบไม้ไหว” ที่อยู่ในอัลบั้ม ‘อื่อ…จา…จา’ (2526) เป็นเพลงที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 14 ตุลาคม 2516 และนี่คือส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของจรัลในหนังสือ ‘อื่อ…จา…จา’ ที่เขียนโดย สิเหร่ และ ฌาน (2527)

 

“สภาพทั่วไปที่เชียงใหม่ มีการชุมนุมที่สวนสาธารณะ ประตูท่าแพ มีการโจมตีรัฐบาลชุดนั้น ประชาชนต่างก็สนับสนุนกันมาก…ผมอยู่ปี 5 พอดี เริ่มศึกษาด้านการเมืองเพราะอยู่ในกลุ่มนักศึกษาที่สนใจเรื่องนี้ ผมเองอยากจะรู้เรื่องราวของการเมืองว่าเป็นอย่างไร เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับลัทธิการปกครอง การเมือง พออ่านแล้วก็เกิดความเห็นด้วย คิดว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข อะไรต่อมิอะไรได้แล้ว แต่ที่ไม่เห็นด้วยก็เกี่ยวกับความรุนแรง ผมไม่ชอบความแรงอย่างเด็ดขาด ทางด้านกิจกรรมที่ผมสามารถช่วยได้ ก็มีเพลง และเขียนรูป เขียนโปสเตอร์…เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (ช่วงเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516) การประชาสัมพันธ์ที่ออกข่าว ไม่ตรงความเป็นจริง ผมรู้สึกเสียใจมาก โดยส่วนตัวแล้ว หากตัวเองสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ก็จะร่วมทำทันที เพียงรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายรัฐบาลเขาทำไม่ถูก…ส่วนตัวผมเสียใจมากกับการฆ่ากันครั้งนั้น ผมนอนร้องไห้กับเพื่อนๆ เมื่อได้ข่าวร้ายนั้น… ผมมีความคิดมากขึ้น คิดว่าดนตรี ไม่ใช่ทำให้เรามีความสุขเพียงอย่างเดียว แต่เนื้อของบทเพลงควรมีอิทธิพลต่อผู้ฟังด้วย…”


เคยถูกต่อต้านจากศิลปินท้องถิ่นในอดีต

ในช่วง 40-50 ปีที่แล้ว คนล้านนาสมัยเก่ายังเล่นซึง เล่นพิณกันอยู่ ซึ่งสมัยนั้นกีตาร์ถือเป็นเครื่องดนตรีของวัยรุ่น เป็นช่วงเดียวกับที่เพลงต่อต้านสงครามเวียดนามของฝรั่งกำลังได้รับความนิยม จรัลจึงหัดเล่นกีตาร์ และเริ่มแต่งเพลงทำนองฝรั่งด้วยภาษาล้านนา (คำเมือง) ไม่เพียงเท่านั้น จรัลยังเอาเพลงของคนอื่นอย่าง เสเลเมา น้อยไจยา คนสึ่งตึง มาร้องเล่นด้วยกีตาร์ในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งให้ความรู้สึกทันสมัยยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุให้คนสมัยนั้นที่ไม่ใช่รุ่นเดียวกับจรัลรู้สึกไม่ชอบใจและเกิดกระแสต่อต้านไปช่วงหนึ่ง   

 

ได้รับอิทธิพลทางดนตรีมาจากศิลปินโฟล์กระดับตำนานมากมาย

สมัยที่จรัลเติบโตมาเป็นช่วงเดียวกับที่เพลงโฟล์ก, คันทรี จากซีกโลกตะวันตกกำลังโด่งดังมาก ซึ่งนอกจากเพลงพื้นเมืองที่จรัลชื่อชอบแล้ว ยังมีศิลปินต่างชาติอีกหลายคนที่เป็นต้นแบบในการเล่นดนตรีของเขา อาทิ John Denver, Bob Dylan, Peter Paul & Marry, Simon & Garfunkel, Willie Nelson ฯลฯ ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อการรังสรรค์โฟล์กซองคำเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาในเวลาต่อมา

 

 

 

Source : A , B , C , D , E 

 

เขียน - ต้นไม้ไขลาน

 

 
 
 Blastmag 2016. All right