เดนตายสกาพั้งก์จากยุคเก้าศูนย์
หกสตูดิโออัลบั้มกับสี่ยุคของวง ที่เริ่มยุคแจ้งเกิด, จากวงดนตรีนอกกระแสในเวลานั้นที่ได้เซ็นสัญญากับสังกัดใหญ่ด้วยผลงานสองอัลบั้มแรก สู่ยุคค้นหา, ที่ได้เงินแต่ไม่ได้ใจ ด้วยแฟนเพลงจากยุคแรกเบือนหน้าหนีกับผลงานสองอัลบั้มต่อมา สู่ยุคพัฒนา, ที่กลับไปตีความดนตรีแบบยุคแรกแต่ใส่ความแน่นและดุดันมากขึ้น ปรับทัศนคติของการเล่าเรื่องในเนื้อเพลงไปสู่นิยามเดิม รากของพั้งค์ จนถึงยุคปัจจุบันที่แฟนเพลงบางส่วนที่ยังติดตามวงอยู่เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะกลับเขียนอัลบั้มใหม่กันอีกนอกจากแค่การแสดงดนตรีสด
ทั้งหมดคือหลักทางที่ The Suicide Machines ผ่านมาตลอดระยะเวลา 15+6 ปีที่อยู่บนถนนสายดนตรีทางเลือก
Jason Navarro หรือ Jay (บางครั้งเขาจะเขียนชื่อตัวเองสั้นๆว่า J.Navarro) เป็นนักร้องนำและมือเขียนเพลงของวง เป็นที่รู้กันว่าเขาคือคนใส่ความคิดให้กับดนตรีของ The Suicide Machines มาโดยตลอด ในช่วงวัยรุ่นที่เขาสนใจเรื่องแบบวัยรุ่นๆ ความรัก ความฝัน อกหัก เพื่อนตาย มิตรภาพ มุกหยอกสาว สเก็ตบอร์ดหรือแม้แต่การเป็นประชากรชั้นสองในสังคมโรงเรียนมัธยม Navarro หยิบจับสิ่งนั้นใส่ไว้หมดใน Destruction By Definition (1996) อัลบั้มแรกและเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่นิยามคำว่าสกาพั้งก์ได้ชัดเจนที่สุดในประวัติศาสตร์ของดนตรีสกาในยุคที่สาม (Third Wave Ska) หรือก็คือช่วงต้นยุค 90’s, ในยุคสมัยที่ MTV และรายการวิทยุในยุคนั้นมองหาสิ่งใหม่ที่จะมาสานต่อความสำเร็จของ Nirava ที่ไล่ทุบแฮร์แบนด์ออกไปจากชาร์ตเพลงและแผงอัลบั้มขายดี Navarro ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อต้นปี 2000 ว่า สำหรับเขา Destruction By Definition คือหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่เขาและเพื่อนเคยเขียนไว้ แต่ในบริบทของความเป็นพั้งก์ ในความเป็นปากเป็นเสียงต่อคนที่มีความคิดต่อต้านระบบและสิ่งที่ถูกเลือกมาให้หรือถูกกรอบให้เลือก โดยส่วนตัวแล้ว Navarro ยกย่องผลงานลำดับที่ห้าของวง, A Match And Some Gasoline (2003) มากกว่า ด้วยมันคือการได้พูดในสิ่งที่เป็นตัวตนของเขาเองจริงๆครั้งแรก
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? เพราะหนังสือสัญญาที่ The Suicide Machines เซ็นกับทาง Hollywood Records ค่ายเพลงที่มีบริษัทแม่เป็น The Disney Company นั้นมีข้อจำกัดค่อนข้างมากเกี่ยวกับเนื้อหาหรือความคิดที่ทางวงจะใส่ไปในบทเพลงรวมไปถึงรายละเอียดอีกพอสมควร กล่าวคือก่อนที่แต่ละเพลงจะถูกปล่อยออกไปได้นั้น ทางค่ายจะทำการจัดเรทให้กับเนื้อหานั้นไว้ก่อนแล้ว ป้าย Parental Advisory Explicit Content ที่เราเห็นกันคุ้นตาในยุคนู-เมทัลเบ่งบาน ถึงขั้นว่ามีการนำไปสกรีนเป็นเสื้อยืดขายนั้น ทั้งอัลบั้มแรกและอัลบั้มที่สอง, Battle Hymns (1998) ของวง ถูกต้นสังกัดแปะสติ้กเกอร์นี้ไว้บนหน้าปกทั้งหมด อย่างนั้นก็ตามผลงานหลายอัลบั้มที่จัดจำหน่ายโดย Hollywood Records นั้นไม่ได้มี The Suicide Machines เพียงวงเดียวที่ถูกจับใส่ระบบนี้ Danzig หรือ The Dead Milkmen วงดนตรีทางเลือกสายพั้งก์ร่วมค่ายก็ต้องผ่านระบบนี้มาก่อน เพียงแต่ The Suicide Machines อาจจะเป๋ไวไปนิดที่เพียงแค่สองอัลบั้มแรกพวกเขาก็ปรับตัวเองเข้าหาตลาดอัลเทอร์เนทีฟ ร็อกสายป็อป จนเข้ารกเข้าพงไปกับอัลบั้มที่สาม, The Suicide Machines (2000, เป็นอัลบั้มเดียวของวงที่มีการผลิตเป็นคาสเซ็ตต์เทปจำหน่ายในบ้านเรา) ที่ใช้ชื่อเดียวกับชื่อวงและอัลบั้มที่สี่ Steal This Records (2001) ที่เหมือนปิดบิลของวงกับแฟนเพลงจากยุคแรกไปในตัว แม้ว่าชุดที่สี่จะดิบกว่าแต่มันก็เป็นเพียงพั้งก์ที่ซาวด์ทันสมัย ลดทอนความเป็นสกาลงไปอย่างฟังได้ชัด (มีเพียง Stand Up เพลงเดียวในอัลบั้มที่สี่ที่เป็นสกา)
Navarro ไม่ค่อยจะโจมตีต้นสังกัดเก่าเท่าไหร่นัก เขามองในแง่ดีว่าการอยู่ในสังกัดใหญ่อย่าง Hollywood Records มันช่วยให้เขาเข้าใจกลไกตลาดของอุตสาหกรรมดนตรีในยุคนั้นว่าอัลเทอร์เนทีฟ ร็อคกับอันเดอร์กราวด์ มิวสิคมันมีข้อแตกต่างเพียงเรื่องเดียวคือทุน The Suicide Machines เป็นวงจากสังกัดใหญ่เพียงวงเดียวที่ได้เล่น Warped Tour แทบทุกปีด้วยต้นสังกัดส่งเข้าร่วมคาราวานพั้งก์ที่ดีที่สุดงานหนึ่งในยุคเก้าศูนย์ (ปัจจุบันกลายเป็นงานออกร้านและขายของเสียมากกว่า เช่นกันกับแทบทุกเทศกาลดนตรีในโลก ตามปัจจัยที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคที่นิยมฟังฟรีมากกว่าซื้อแผ่น) หากแต่การขึ้นเวทีของพวกเขาจะไม่ใช่วงเฮดไลน์ แต่เป็นวงที่เลือกจะวางตัวเองไปอยู่บนเวทีขนาดกลางหรือเล็ก และนั่นก็เป็นโอกาสให้ Navarro และเพื่อนเห็นว่า ยังคงมีคนดูจำนวนไม่น้อยที่สนุกไปกับการแสดงสดของพวกเขา ความเป็นสกาพั้งค์ในการแสดงสดที่ยังคงมีพลังและชวนให้โดดเสมอ Alternative Press Magazine ฉบับหนึ่งในปี 2003 เล่าว่าแม้จะถูกค่อนขอดจากแฟนเพลงกลุ่มใหญ่ว่า The Suicide Machines คือวงที่เงินซื้อได้ แต่ทันทีที่พวกเขาย้ายไปอยู่กับ Side One Dummy Records ในปีเดียวกันนั้นและปล่อยงานลำดับที่ห้าออกมา นิยามสกาพั้งค์ที่ติดหน้าวงมาตลอดหลายปีก็เปลี่ยนไป ด้วยไลน์-อัพที่เหลือเพียง Navarro และ Dan Lukacinsky มือกีตาร์และเพื่อนที่ร่วมก่อตั้งวง ทั้ง A Match And Some Gasoline และ War Profiteering Is Killing Us All (2005) กลายเป็นผลงานที่เจือฮาร์ดคอร์พั้งค์เข้าไปในสกาพั้งก์จนสื่อดนตรีบางหัวจำกัดความว่า ‘สกาคอร์’ หนึ่งในคนที่สร้างซาวด์ใหม่และส่งให้ The Suicide Machines กลับมาดิบได้ก็คือ Bill Stevenson อดีตมือกลองของ ALL และ Descendents
‘คนฟังหลายคนไม่ได้ประทับใจกับมัน (ผลงานสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ห้าของวง) เท่าไหร่นัก เขาว่ามันจริงจังและชวนเครียดเกินไป ฮ่า มันเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้นะสำหรับผม สกาคือดนตรีที่ชวนให้เราหลบหนีจากโลกจริงไปสู่บางอย่างที่ไม่ต้องคิด แค่สนุกไปกับดนตรีและจังหวะ ซึ่งผมก็สนุกนะที่ได้เขียนเพลงแบบนั้น แต่นั่นแหละ ผมรักอัลบั้มนี้มาก รักที่ได้ทำมันออกมาแบบนี้’
Navarro พูดถึง A Match And Some Gasoline ซึ่งความตั้งใจของเจ้าตัวที่เกิดและโตในเมืองอุตสาหกรรมอย่าง Detroit, Michigan หนึ่งในเมืองหลวงอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาที่ว่ากันว่า ถ้าคุณไม่ขี้เกียจคุณจะไม่ตกงาน เพราะอัตราการจ้างงานที่ต้องตอกบัตรเข้ากะในโรงงานของที่นี่มีเหลือเฟือสำหรับพลเมืองโดยกำเนิดและยังคงตอบรับแรงงานพลัดถิ่นจากรัฐอื่นมากขึ้นโดยตลอด และเพราะเป็นเมืองอุตสาหกรรม ไม่ใช่เมืองแห่งความฝันและการตามหาตัวเองอย่าง Los Angeles หรือมหานคร New York ในช่วงต้นทศวรรษที่เก้าสิบ การที่วงดนตรีสักวงจะดังทะลุประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเมืองอุตสาหกรรมจะไม่เอื้อกับการทำดนตรีทางเลือกและมนุษย์สร้างสรรค์ นอกจาก The Suicide Machines แล้ว Eminem แร็ปเปอร์ผิวขาวที่ดังที่สุดตลอดกาลก็เป็นคนจากรัฐนี้เช่นกัน (Marshall Mathers The Third หรือชื่อจริงของ Eminem เกิดและโตในย่าน 8 Mile ส่วน Jay Navarro เกิดและโตในย่านที่ไกลออกไปกว่าคือ 12 Mile) และ The Black Christmas เทศกาลดนตรีทางเลือกส่งท้ายปีของ Detroit, Michigan ที่จัดเป็นประจำ หลังจากที่ The Suicide Machines รวมวงกันอีกครั้ง พวกเขาก็กลายเป็นขาประจำของงาน ส่วนหนึ่งก็เพราะตั้งแต่กลางยุคเก้าศูนย์เป็นต้นมา นอกจากพวกเขาแล้ว มีเพียง The Black Dahlia Murder และ Walls Of Jericho เพียงสองวงจากเมืองนี้ที่ประสบความสำเร็จในแวดวงดนตรีทางเลือกและผลัดกันขึ้นเป็นเฮดไลน์ในเทศกาลดังกล่าว
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของวง ด้วย Navarro และ Lukacinsky เป็นเพื่อนร่วมมัธยมกันมา ในปี 1991 พวกเขาใช้ชื่อวงว่า Jack Kevorkian And The Suicide Machines ชื่อวงดูเหมือนไม่มีอะไรมากกว่าการตั้งชื่อวงให้ยาวเข้าไว้ แต่ที่มาของชื่อวงมีสองนัยยะคือ หนึ่งคือ Kevorkian เป็นนักคิดและนักวิชาการที่เสนอแนวคิดว่า มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะเลือกตายได้ด้วยการทำอัตนิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตายโดยไม่ผิดกฎหมาย ในบรรยายหลายครั้งและงานเขียนของเขาพูดถึงการฆ่าตัวตายในรูปแบบต่างๆที่ทรมานน้อยที่สุด รวมไปถึงข้อควรคำนึงถึงในการฆ่าตัวตายให้ไม่ผิดกฎหมายและไม่ทิ้งภาระให้กับผู้อื่น ทั้งยังมีการฟ้องร้องกันหลายคดีว่าการให้คำปรึกษาของเขาทำให้มีผู้เชื่อถือและฆ่าตัวตายตามนับร้อยราย Navarro ในช่วงวัยนั้นชื่นชอบในความแปลกของวิชาการที่ Kevorkian หรือที่หนังสือพิมพ์ให้ฉายาเขาว่า Dr. Death พูดถึงอย่างมากจนนำมาตั้งชื่อวง อีกนัยยะหนึ่งคือการอำ Iggy Pop And The Stooges อีกตำนานร็อคแอนด์โรลล์ของรัฐ Michigan หลังจากที่ออกเดโม The Essential Kevorkian (1993) และ Green World (1994) และซิงเกิ้ล Vans Song (1994) พวกเขาปรับลดชื่อวงเหลือเพียง The Suicide Machines ด้วยเหตุผลว่าพอใช้ชื่อวงยาวทำอะไรก็ยากไปหมด ทั้งการเขียนใบประกาศงานแสดง การสื่อสารกับคนดูว่านามสกุลของ Kevorkian สะกดอย่างไรหรือการต้องพูดชื่อวงยาวๆบนเวทีด้วย จริงอยู่ที่ก่อนหน้านั้นทนายส่วนตัวของ Jack Kevorkian เคยส่งหนังสือถึงพวกเขาว่าให้ระมัดระวังความเข้าใจผิดของคนว่าเนื้อหาในเพลงของพวกเขาเป็นผลงานและแนวคิดของ Jack Kevorkian แต่ทางวงก็ไม่ได้สนใจเรื่องนั้นและยืนยันว่าการเปลี่ยนชื่อวงก็ไม่ได้เกี่ยวกับอะไรทางกฏหมายเลยสักนิด และด้วยชื่อวงที่สั้นลงแล้ว Skank For Brains สปลิทอัลบั้มร่วมกับ The Rudiments สกาพั้งค์จาก East Bay, California จึงกลายเป็นผลงานแรกในชื่อวงใหม่นี้ก่อนจะได้ร่วมสัญญากับ Hollywood Records ด้วยสมาชิกชุดที่ประกอบด้วย Navarro ร้องนำ, Lukacinsky กีตาร์, Derek Grant มือกลองและ Royce Nunley เบส
Nunley มีพื้นเพเป็นนักดนตรีที่อยากทำงานเบื้องหลังมานาน หลังจากสองอัลบั้มแรก Navarro ค่อนขอดเพื่อนร่วมวงคนนี้ว่าเป็นคนที่โน้มน้าวให้วงฝักใฝ่ทางสายป็อปพั้งก์ตามกระแสในขณะนั้นจนผลงานของวงออกมาเป็นอย่างงานชุดที่สามและสี่ ยิ่งเมื่อ Derek Grant แยกตัวไปเป็นสมาชิกให้กับ Alkaline Trio หลังจาก Battle Hymns ปิดอัลบั้มด้วยแล้ว Julian Raymond โปรดิวเซอร์ในสังกัดของ Hollywood Records ก็ปรับซาวด์จากที่ปั้นมาดีดีใน Battle Hymns ไปทางป็อปอย่างเห็นได้ชัด ครั้งหนึ่งมีข่าวว่าพวกเขาถูกสังกัดตัดแต่งให้ออกมาเป็นแบบนั้น เพราะยังไงเสีย Hollywood Records ก็ต้องทำงานป้อนต้นสังกัด เพลงดังของวงจากอัลบั้มที่สองอย่าง Give ก็ไม่ได้แย่นักและมันกลับช่วยให้พวกเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างด้วยถูกใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เกี่ยวกับกีฬาอินลายน์สเก็ตเรื่อง Brink! ของ Disney อย่างนั้นก็ตามในยุคของ Battle Hymns คือช่วงเวลาที่อยากลืมที่สุดของ Navarro ด้วยเหตุผลส่วนตัวที่เขาบอกว่า นอกจากรายได้แล้วไม่มีอะไรสักอย่างที่น่าจดจำ
‘ผมโตมากับความแตกต่างของยุคสมัยที่พั้งก์ร็อคเป็น ในช่วงต้นยุคเก้าศูนย์ ก่อนป็อปพั้งก์จะเป็นแฟชั่น คำว่าสุดเหวี่ยงยังไม่ใช่เครื่องหมายการค้าของกีฬาและดนตรี ในคอนเสิร์ตพั้งก์ร็อคมีเรื่องเจ็บตัวได้ทุกขณะ ในช่วงแรกของวงพวกเราก็ไม่ได้สนใจว่ามันจะบรรลัยแค่ไหน เราแค่พั้งก์ เราเล่นสกาในคอนเสิร์ตพั้งก์ ไม่มีโอกาสได้สนใจคนดูหรอกว่าพวกเขาจะยับกัน พอเราปรับมาเล่นป็อปพั้งค์มันเปลี่ยนพลังงานในการสื่อสารลงไป พวกเราใช้การขึ้นเล่น Warped Tour เพื่อบอกเล่าสิ่งที่เราตั้งใจเขียนออกมา ในช่วงปี 2000-2002 สำหรับผม คือหนึ่งในโอกาสที่ได้ทำงานอย่างที่เราเป็น’ Navarro กล่าว ซึ่งบรรยากาศในการแสดงสดของ The Suicide Machines ที่ Warped Tour ยังคงต่อเนื่องมาแม้ว่าจะย้ายสังกัดแล้ว ในปี 2003 พวกเขาได้เล่นบนเวที Braveheart ส่วนแสดงดนตรีที่เดือดที่สุดในเทศกาล มันคือมอชพิทกลางแดดดีดีนี่เอง The Suicide Machines รับไม้ต่อจาก Sick Of It All หลายครั้งในการเดินสายปีนั้น บางเมืองก็ได้ขึ้นเล่นก่อน Pennywise รอยสักและผลงานทั้งสามวง คงไม่ต้องสงสัยว่าพวกเขาเป็นของจริง Navarro ยอมรับว่าการได้เห็นตำนานและวงโปรดวงหนึ่งตลอดกาลของเขาใน Warped Tour บนเวทีเดียวกันในบรรยากาศของคอนเสิร์ตพั้งก์ที่หัวโน ปากแตกคือเรื่องปกติ มันให้แรงบันดาลใจกับเขาอย่างมากว่า แม้จะเป็นเทศกาลที่หลายวงพั้งก์มองว่าขายแต่เปลือก แต่น้อยที่สุดมันก็เปิดโอกาสให้เด็กในอีกรุ่น อีกเจนเนอเรชั่นได้สัมผัสบรรยากาศของงานพั้งก์ในสถานที่พวกเขามีอะไรที่แท้บ้างให้เลือกดู
Navarro ขยายความถึงผลงานสองอัลบั้มที่อยู่กับ Side One Dummy Records ว่ามันคือบทเพลงกึ่งเพลงปลุกระดมและเพลงที่เป็นบันทึก ฟังดูเหมือนพวกพั้งก์แก่อินการเมืองไม่เลิกสายโอ้ย (Oi!) แต่หลักใหญ่ใจความของทั้งสองอัลบั้มไม่ใช่การประท้วงแต่มันคือการแสดงความเคารพต่อคณะพั้งก์อย่าง Dead Kennedys และ Negative Approach ที่ช่วยเปิดโลกของ Navarro ในการเป็นพั้งก์ที่มีหัวคิดและไม่ได้เอาเท่ ภาพลักษณ์ของเขาตั้งแต่ออกอัลบั้มแรกที่ดูเป็นเด็กโอลด์สคูล สเก็ตบอร์ดเดอร์ ใส่กางเกงทรงแบ้กกี้ เสื้อยืดตัวโคร่งและรองเท้าแวนส์ มาสู่พั้งก์ใส่สูทแต่เจาะจมูกและย้อมสีผมแบบที่นิยมทำกันในช่วงเก้าศูนย์ตอนกลางในช่วงอัลบั้มที่สาม มาสู่ครัสต์พั้งก์ที่สักเต็มแขน ใส่เสื้อกั๊กยีนส์และบู้ทหนังของดอกเตอร์มาร์ตินส์ ทั้งหมดไม่ใช่พัฒนาการทางการแต่งตัวของ Navarro แต่มันยังสะท้อนความไม่หยุดจะนำเสนอพั้งก์ในแบบต่าง ๆ ที่เขาชื่นชอบด้วย เขายอมรับว่าตัวเองสนใจในการเป็นพั้งก์ด้วยความที่มันดูเท่เมื่อสมัยวัยรุ่น และดนตรีที่ชวนหัวราน้ำและสนุกสนาน แต่พอมีอายุมากขึ้น เขามองว่าเพลงพั้งก์ที่ดีต้องมีจุดยืน จากเพลงขนาดสั้นๆ เนื้อเพลงเหมือนแร็พรั่วบ่นไปมา มาสู่เพลงที่ตั้งคำถามว่า สังคมเป็นแบบนี้มันดีแล้วเหรอ บ้านเมืองที่อยู่แบบสะดวกสบายแต่รอวันเป็นทาสทุนนิยมมันดีแล้วเหรอ สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาฉายซ้ำในเพลงของ The Suicide Machines ยุคหลังเช่นกันกับที่เคยมีอยู่ใน Fresh Fruit For Rotting Vegetables ของ Dead Kennedys และ Friends Of No One ของ Negative Approach
‘ไม่ใช่ความคิดของผมกับการโชว์บั้นท้ายตัวเองบนปกอัลบั้ม ฮ่า มันเป็นความคิดของต้นสังกัดเราในตอนนั้น หลายคนอาจจะชอบปก Destruction By Definition เพราะมันดูเท่ แต่สำหรับผมแล้วมันไม่สื่อสารอะไรเลย ครั้งแรกที่พวกเราเห็นปก ไม่มีใครชอบมันเลยแต่ผู้จัดการงานที่ดูแลในตอนนั้นบอกว่าเรามีเวลาแค่สองสัปดาห์ตามกำหนดการวางแผงของบริษัท การต้องเลือกใช้รูปถ่ายจากการแสดงสดจึงเป็นทางที่เลี่ยงไม่ได้ ด้วยพวกเขาอยากให้ปกอัลบั้มมันเชื้อชวนให้คนฟังรู้สึกถึงความเป็นพั้งก์ ซึ่งมันดูทื่อมากและมีอัลบั้มฮาร์คอร์พั้งก์ที่ดีชุดอื่นที่เลือกรูปถ่ายจากการแสดงสดได้ดีกว่าการเลือกรูปบั้นท้ายผมกับรองเท้าแวนส์’ Navarro เล่า
ที่ว่าอายุของวงในปัจจุบันเท่ากับ 15+6 ปีนั้น ด้วยสาเหตุการยุบวงที่ค่อนข้างกะทันหันและกระทบกันไปหมดของสมาชิกในวงในปี 2006 หลังจากที่ออกอัลบั้ม War Profiteering Is Killing Us All และกำลังออกทัวร์รอบประเทศสหรัฐฯครั้งที่สอง ทางวงประสบปัญหาการขายไม่ได้ คือในหลายโชว์ครั้งนั้นพวกเขาต้องออกทัวร์แบบไม่หวังเอาค่าตัวเพื่อไปเล่นให้ครบตามที่วางแผนไว้ ซึ่งนั่นทำให้ Ryan Vandeberghe มือกลองและ Rich Tschirhart มือเบส ไม่อยากออกแสดงจนครบตามแผนด้วยว่าทำไปก็เจ็บตัว ยังผลให้เกิดปากเสียงกันกับ Dan Lukacinsky จนสองคนนั้นแยกตัวกลับบ้านกะทันหัน ทางวงประคองการแสดงมาจนถึงคืนสุดท้ายที่เป็นคืนแตกหักของ Lukacinsky และ Navarro เมื่อมือกีตาร์เพื่อนเก่าของเขาลงจากเวทีไปโดยทิ้งอังกอร์ไว้แบบไม่ยอมเล่นต่อ สมาชิกบนเวทีที่เหลือจึงจบการแสดงสุดท้ายที่วงเล่นกับ Lukacinsky ก่อนที่จะยุบวงอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนกว่าหลังจากการสแดงคือนั้น หลังจากนั้น Lukacinsky และ Navarro ก็ไม่ได้ร่วมงานกันอีก แม้ว่าต่างคนต่างมีงานเพลงใหม่ของตัวเองออกมาประปราย จนท้ายที่สุด Lukacinsky ย้ายไปอยู่ญี่ปุ่นในปี 2008 ก่อนที่จะเกิดเรื่องฟาดปากกันผ่านสื่อออนไลน์เมื่อ Navarro ตัดสินใจรวมวงขึ้นเวทีในชื่อ The Suicide Machines อีกครั้งในปี 2009 เพื่อระดมทุนจ้างทนายความช่วยเพื่อนสนิทของเขาที่เป็นนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมจากการถูกดำเนินคดีในกรณีประท้วงที่ Seattle ในช่วงที่มีการประชุม G8 ซึ่งนั่นทำให้ Lukacinsky ไม่พอใจอย่างมาก ก่อนจะเขียนผ่านพื้นที่ในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คของตัวเองว่านั่นคือการขโมยและทำไปเพื่อเงิน
แต่หลังจากคราวนั้นเป็นต้นมา เหมือนว่า The Suicide Machines ก็จะกลับมาเป็นวงเฉพาะกิจ เฉพาะงานอีกครั้งปีละครั้งไม่กี่โชว์ โดยเมื่อหน้าร้อนปีที่แล้ว Derek Grant กลับมาเล่นกลองให้กับวงในการออกทัวร์ฟื้นความหลัง 20 ปีอัลบั้มแรกและเป็นการทัวร์ที่จริงจังที่สุดตั้งแต่ที่ Jason Navarro กลับมาใช้ชื่อวงนี้ในการแสดงอีกครั้ง แต่นั่นก็เป็นเพียงหนึ่งในการดำเนินธุรกิจของวงดนตรีที่เคยมีอดีตที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในวงการดนตรีทางเลือกจากยุคเก้าศูนย์ จนถึงวันนี้ The Suicide Machines ยังคงไม่มีผลงานเพลงที่เขียนขึ้นมาใหม่ และนอกจาก Navarro แล้ว ยังไม่มีความแน่ชัดเลยว่า อัลบั้มลำดับที่เจ็ดของวงจะมีเกิดขึ้นไหม และจะมีสมาชิกเก่าหน้าใดบ้างได้ร่วมงาน หรือจะกลายเป็นวงดนตรีจากยุคเก้าศูนย์อีกวงที่มีเพียงฟ้อนต์แมนเท่านั้นที่ควรเครดิตกับการมาทำงานอีกครั้งเช่นกันกับหลายวงจากยุคนั้น
....
‘พวกเราแค่อยากเป็นวงพั้งก์ ร็อก ที่มีมาตรฐานเช่นวงที่เราฟัง ผมไม่เห็นว่าดีในการใช้คำว่า พั้งก์ ร็อก เพื่อจัดหมวดหมู่กับดนตรี ผมไม่เห็นด้วยกับการถูกจัดหมวดหมู่ของอะไรสักอย่าง ตัวอย่างเช่นการออกทัวร์ ผมอยากไปเจอคนใหม่ๆวงใหม่ๆอยากมีเพื่อนในทุกสายดนตรี ผมอยากเล่นกับวงพั้งก์ อยากเล่นกับวงสกา อยากเล่นกับวงฮาร์ดคอร์ อยากเล่นกับวงเมทัล อยากเล่นกับวงฮิพฮอพหรือวงลูกผสมอื่นๆ ดนตรีคือดนตรี คือเรื่องของการร่วมแสดงและแลกเปลี่ยน ผมอยากเล่นดนตรีบนเวทีเดียวกับทุกคน ผมไม่สนใจว่าพวกเขากับเราจะแตกต่างสไตล์ดนตรีกัน แน่นอนว่าคนฟังและคนดูส่วนมากจ่ายเงินมาเพื่อจัดหมวดเราว่าเป็นวงพั้งก์ แต่ผมแค่อยากเล่นดนตรี ดนตรีประเภทใดก็ตาม’ Navarro แสดงจุดยืนนี้ไว้เมื่อสิบห้าปีที่แล้ว ในฐานะคนดนตรีที่ไม่ได้ยืดติดว่าเขาเล่นดนตรีที่เรียกว่าอะไรและเขียนเพลงประเภทใด