เมื่อพูดถึงคำนี้ทีไรท่อนฮุกสุดอมตะของเพลงหางเครื่องก็แว่วดังขึ้นในหัวทุกที “ดนตรีนั้นคือชีวิต จังหวะคอยลิขิตให้ชีวิตก้าวไป…” ผมเชื่อว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของคนที่อ่านบทความนี้ น่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีใจรักในเสียงดนตรี และน่าจะเคยได้ยินวลีคลาสสิกที่ว่านี้ผ่านหูกันมาบ้างไม่มากก็น้อย แล้วเคยนึกสงสัยกันไหมครับว่า แท้จริงแล้ววลีที่ว่านี้ได้แฝงนัยยะอะไรเอาไว้? เป็นอย่างที่เขาว่ากันจริงหรือไม่? แล้วเพราะอะไรดนตรีจึงดูมีความสำคัญถึงขนาดถูกเปรียบได้ดั่งชีวิตมนุษย์ถึงเพียงนี้
หากจะให้ระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนถึงการกำเนิดเกิดขึ้นของดนตรีคงเป็นเรื่องที่ยากมากครับ แต่สิ่งที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ ดนตรีนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมกับธรรมชาติของเรา เป็นความลับที่ซ่อนอยู่ในจักรวาลเมื่อนานมาแล้ว ก่อนที่มนุษย์อย่างเราจะหยั่งถึงและสร้างสรรค์สรรพเสียง กระทั่งบัญญัติคำว่า Music หรือ ดนตรี ขึ้นบนดาวเคราะห์ดวงจิ๋วนี้เสียอีก ซึ่งสำหรับคนที่มีความรู้เรื่องทฤษฎีดนตรีติดตัวมาบ้างคงเข้าใจเป็นอย่างดีว่าโครงสร้างของดนตรีหรือทุกๆ บทเพลงที่เราได้ยินล้วนมี Rhythm หรือ จังหวะ เป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของดนตรีเลยก็ว่าได้
และสิ่งนี้เองที่เป็นความลับที่ธรรมชาติและจักรวาลของเราซ่อนเอาไว้ มิใช่เรื่องไกลตัว เป็นสิ่งที่เราสังเกตเห็นได้และสัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็น กลางวันกลางคืน น้ำขึ้นน้ำลง การผันเปลี่ยนของฤดูกาล เสียงเม็ดฝนที่กระทบกับพื้น ตลอดจนถึงอัตราการเต้นของหัวใจในคนเรา ฯลฯ ทุกอย่างนี้ล้วนมีคุณสมบัติเป็น จังหวะ ด้วยกันทั้งสิ้น (มีการเกิดซ้ำและต่อเนื่อง) นี่ยังไม่นับรวมถึงพวกเสียงร้องของบรรดาสัตว์น้อยใหญ่อีกนานาชนิด ซึ่งมีความถี่และระดับเสียงสูงต่ำสั้นยาวแตกต่างกันไปอีกนะครับ
นอกจากนี้ก็มีอีกหลากหลายทฤษฎีที่พูดถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับดนตรีไว้ได้อย่างน่าสนใจ แต่ก็ยังไม่มีสำนักไหนสามารถฟันธงเรื่องตัวเลขเวลาได้อีกเช่นเคย เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ชัดว่ามนุษย์เริ่มใช้ดนตรีครั้งแรกเมื่อไหร่ มีเพียงข้อมูลบางส่วนที่ทำให้เราพอจะมองเห็นภาพคร่าวๆ ได้เท่านั้น ตัวอย่างเช่น มีทฤษฎีหนึ่งที่สันนิษฐานว่าวัฒนธรรมดนตรีของมนุษย์อาจมีจุดเริ่มต้นมาจาก Motherese หรือภาษาที่แม่ใช้คุยกับทารก หากใครสงสัยให้นึกถึงเสียงจำพวก “โอ๋เอ๋” “อ้ามมมม” “หมั่มหม่ามมม” “ดูสิ๊” “ร้องห้ายยย หญ่ายยย เยยยย” อะไรประมาณนี้ครับ ซึ่งจะมีการออกเสียงช้าๆ และใช้เสียงสูงเสียงต่ำปะปนกันไป ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ทารกได้ซึมซับและผูกพันกับเสียงเพลงมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย และคาดการณ์กันว่านี่อาจเป็นที่มาของเมโลดี้หรือทำนองเพลงที่บรรพบุรุษของเราพัฒนาขึ้นในเวลาต่อมา
Divje Babe Flute
นอกจากนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนนักวิทยาศาสตร์ยังได้พบหลักฐานชิ้นสำคัญที่ทำให้เราขยับเข้าใกล้ความจริงของวัฒนธรรมดนตรีของเผ่าพันธุ์มนุษย์มากยิ่งขึ้น นั่นคือการค้นพบขลุ่ยโบราณ Divje Babe Flute ที่สโลวีเนีย ในปี 1995 ซึ่งเป็นขลุ่ยที่ทำมาจากกระดูกโคนขาของหมี สันนิษฐานว่ามีอายุราว 4-6 หมื่นปีมาแล้ว และเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์ยุคใหม่เคยค้นพบอีกด้วย หลังจากนั้นก็มีการค้นพบเครื่องดนตรีโบราณอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย อาทิเช่น Bone Flute อายุราว 4 หมื่นปี (ทำมาจากกระดูกของนก) และ Mammoth Ivory Flute อายุราว 3.5 หมื่นปี (ทำมาจากงาของช้างแมมมอธ) เป็นต้น
ว่ากันว่าไลฟ์สไตล์การใช้ดนตรีของมนุษย์เวอร์ชั่นแรกนั้นไม่ได้ต่างจากมนุษย์เวอร์ชั่น 4.0 เท่าไหร่ คือใช้ดนตรีเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บูชาเทพเจ้า และใช้เพื่อการสันทนาการเหมือนในปัจจุบัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจกว่านั้นครับ หากย้อนกลับไปเมื่อหลายหมื่นปีก่อน การอพยพย้ายถิ่นฐานของมนุษย์นั้นยังถือเป็นเรื่องปกติมาก แต่การเดินทางก็ใช่ว่าจะสะดวกสบายอย่างทุกวันนี้ ไหนจะต้องฝ่าฟันกับอันตรายจากบรรดาสัตว์ทั้งหลายและภัยธรรมชาติที่พร้อมกระหน่ำเล่นงานทุกเมื่อ การฉายเดี่ยวหรืออพยพไปกันจำนวนน้อยๆ แลดูจะเป็นเรื่องที่เสี่ยงใช่เล่น ดังนั้น มนุษย์ยุคก่อนจึงพยายามใช้ดนตรีนี่แหละครับ เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์และสร้างความผูกพันในหมู่มนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งก็เป็นผลดีต่อการอพยพย้ายถิ่นฐานและช่วยดำรงรักษาเผ่าพันธุ์ Homo Sapiens ของเรา (ในทางอ้อม) ให้คงอยู่เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้อีกด้วย
สอดคล้องกับทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาลส์ ดาร์วิน ที่เชื่อว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของการสืบพันธ์ของมนุษย์ เพศชายจะใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการดึงดูดเพศหญิง จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกทางเพศ (Sexual Selection) และคัดสรรค์โดยธรรมชาติ (Natural Selection) สืบพันธ์ ถ่ายทอดยีน ตลอดจนถึงส่งต่อองค์ความรู้ทางด้านดนตรีให้กับคนรุ่นถัดไป เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันหลายยุคหลายสมัยตามหลักวิวัฒนาการ
ถึงตรงนี้ก็พอจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าดนตรีนั้นมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์จริงๆ ไม่แปลกที่ดนตรีจะอยู่เคียงคู่กับมนุษย์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านกระบวนการเรียนรู้นมนานจนสมองของเรารับรู้ได้ว่าดนตรีคือ ‘สิ่งที่ดีต่อใจ’ มากแค่ไหน มีหลายงานวิจัยที่ช่วยยืนยันว่าการฟังเพลง (โดยเฉพาะเพลงโปรด) จะช่วยให้มีสุขภาพดีขึ้นและลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ, ช่วยให้สมองหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ทำให้รู้สึกดีและมีความสุขมากขึ้น, ช่วยสร้างบรรยากาศทั้งภายในและภายนอกตัวเราให้ดีขึ้น, การฟังเพลงคลาสสิกช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้ดีกว่าแนวเพลงอื่น และช่วยปรับความดันโลหิตให้เข้าสู่ระดับปกติได้เร็วที่สุด นอกจากนี้ดนตรียังถูกนำมาใช้ในทางบำบัดให้กับผู้ป่วยที่สูญเสียความทรงจำจากการบาดเจ็บทางสมอง (โดยใช้เพลงเก่า) ให้สามารถฟื้นคืนความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ ผู้คน หรือเรื่องราวต่างๆ ในอดีตได้อย่างดีอีกด้วย ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และดนตรีนั้นมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก แนบแน่นเกินกว่าจะพรากสิ่งใดออกจากกัน บางทีคำว่า ดนตรีคือชีวิต อาจบัญญัติขึ้นมาเพื่อแสดงถึงความสำคัญและสดุดีให้แก่ความยิ่งใหญ่ของดนตรีก็เป็นได้ ลองคิดแบบขำๆ หากชีพจรของคนเรามีคุณสมบัติเป็นจังหวะจริง และจังหวะก็คือหนึ่งในองค์ประกอบหลักของดนตรี นั่นเท่ากับว่า หัวใจ ก็คือ กล่องดนตรี ที่ถูกบรรจุอยู่ในร่างกายของคนเราทุกคน คอยขับเคลื่อนชีวิตให้ดำเนินต่อไป และเมื่อใดก็ตามที่ดนตรีหยุดบรรเลง คงเป็นวันเดียวกับที่มนุษย์หมดสิ้นลมหายใจ บางทีดนตรีอาจอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดนะครับ
อย่างไรก็ตาม เราก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ดนตรีคือชีวิต วลีนี้เป็นจริงหรือไม่อย่างไร เพราะท้ายที่สุดแล้ว อาจขึ้นอยู่กับแต่ละคนมากกว่าว่าจะนิยามดนตรีว่าอย่างไร บางทีอาจไม่สำคัญด้วยซ้ำว่าดนตรีจะเป็นอะไร ตราบใดที่มันได้สร้างช่วงเวลาที่ดีและส่งมอบความสุขให้กับเราอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เพียงเท่านี้ก็เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว
แล้วสำหรับทุกคนล่ะครับ คิดว่าดนตรีคืออะไร… ?
ต้นไม้ไขลาน - เขียน
ที่มา : BLAST MAGAZINE ฉบับที่ 38