+66 81 692 3961
leesic@gmail.com
  


ที่ใดมีร็อก ที่นั่นมีรัก ที่ใดมีร็อก ที่นั่นมีรัก ที่ใดมีร็อก ที่นั่นมีรัก


 2021-03-26 19:42:24

    

ที่ใดมีร็อก ที่นั่นมีรัก

Text By : leesic

 Pic : Somchart family / Hard Rock / Telefon

 

                เป็นเรื่องที่ค่อนข้างบังเอิญมากที่ชีวิตของผู้ชายตัวเล็ก ๆ คนนึงในวัยเยาว์ได้มีส่วนร่วมและเห็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญระดับประเทศเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นั่นคือการมาถึงของคาเฟ่ระดับโลกที่ชื่อ Hard Rock Cafe สาขา Bangkok และมาปักหมุดย่านสยามสแควร์ แหม ใกล้บ้านเสียด้วย ฮาฮาฮา  มันจะไม่มีอะไรผูกพันธ์หรือใกล้ชิดอันใดเลยหากพี่ชายคนนึงในบ้านได้ไปทำงานเป็นพนักงานฮาร์ด ร็อค คาเฟ่รุ่นแรก ซึ่งนอกจากพี่ชายที่ชื่อสมชาติ มาบอกเล่ากับคนในบ้านอย่างตื่นเต้นว่า “ได้ทำงานกับคาเฟ่ระดับโลกแล้ว”  เด็กอย่างเราก็พลอยโอ้วเย้ได้หน้าไปด้วย แถมไปคุยกับเพื่อนในโรงเรียนว่าพี่กูได้ทำงานที่นี่นะโว้ย ฮา ขิงซะหน่อย

                ในยุคนั้นการหาข้อมูลในโลกเวิล์ดไวด์เว็บนั้นยังไม่มี แม้กระทั่งประวัติของคาเฟ่ชื่อก้องที่นี้ พี่ชาติหรือเฮียตี๋ที่คนในบ้านเรียกกันก็จะกลับมาเล่าเรื่องราว ๆ ต่าง ๆ ให้ฟังถึงประวัติความเป็นมา ขั้นแรกของการสมัครเป็นพนักงานที่นี่คือ 1. พูดภาษาอังกฤษในระดับใช้ได้ดี 2.ศึกษาประวัติฮาร์ดร็อคเพราะต้องทำข้อสอบ 3.การมีอุปนิสัยเอนเตอร์เทนเนอร์ในตัวคุณ โอ้โห้ ยิ่งตอกย้ำความภาคภูมิที่ได้เป็นสตาฟของที่นี่ ซึ่งต้องผ่านการอบรมหลักสูตร School of Hard Rock  ฟังแล้วมันทำให้เด็กอย่างเรารู้สึกอยากเดินตามรอยเท้า

                เอกลักษณ์สำคัญที่สร้างความฮือฮาระดับประเทศนั่นก็คือ หัวรถสามล้อ ที่ฝังตัวอยู่บนอาคาร เหมือนเป็นการแหวกม่านประเพณีที่สาขาทั่วโลกมักจะใช้หัวรถคาดิแล็ค แต่ไหน ๆ มาประเทศไทยแล้วการใช้หัวรถสามล้อก็เท่ห์ไม่หยอก แสดงถึงเอกลักษณ์ของสาขานั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี และกว่าจะผ่านขั้นตอนอนุมัติจากบริษัทแม่ก็ยากส์เอาการอยู่  ซึ่งช่างห่างไกลจากการเปิดหัวชื่อ Hard Rock Cafe หน้ามือเป็นหลังเท้า ว่ากันถึงชื่อฮาร์ด ร็อค คาเฟ่ ดันมีสองหนุ่มอเมริกันชนอาศัยในลอนดอน Isaac Tigrett และ Peter Morton ไปเห็นคำว่า Hard Rock Cafe บนปกหลังอัลบั้ม Morrison Hotel ของวง The Doors (วางจำหน่ายเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 1970) เรื่องจึงเกิด ทั้งสองคนติดตามหาช่างภาพจนร้อนไปถึงขอชื่อที่ปรากฎอยู่บนหน้าปก “เฮ้ยนาย เราขอใช้ชื่อฮาร์ด ร็อค คาเฟ่ ได้ไหมวะ เราอยากเปิดร้านอาหารและกำลังหาชื่อร้านอยู่”  และนี่ก็คือที่มาของชื่อและเป็นสาขาแรกที่ไฮด์ปารก์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ (เปิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 1971)  เออ มาง่ายดีแท้ ฮา

                ครั้นพอเปิดได้ไม่นานก็ได้รับความนิยมล้นหลาม จองคิวกันยาวเหยียด กระทั่งการมาเยือนของเทพเจ้ากีตาร์ Eric Clapton นั่งดื่มอยู่ที่บาร์ได้ไม่นานท่านเทพก็เกิดไอเดียถ้ากูมาแล้วต้องมารอนานไม่เอาดีกว่า งั้นก็เอากีตาร์มาแขวนไว้ที่หน้าบาร์มันซะเลย พร้อมกำชับว่าที่ตรงนี้เป็นขาประจำอย่างเขา ไม่มีใครปฏิเสธที่จะไม่รับกีตาร์มาแขวน แต่ไม่นานนักทางร้านก็ได้รับพัสดุขนาดเขื่องใบนึงส่งมาถึง เปิดออกมากก็พบกว่าเป็นกีตาร์ของ Pete Townshend  วง The Who พร้อมข้อความ “กีตาร์ตัวนี้ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าไอตัวที่แขวนอยู่ในร้านหรอกนะ”  เท่านั้นแหละ เป็นเรื่อง เลยกลายเป็นธรรมเนียมของบรรดาเหล่านักดนตรี ศิลปินระดับโลกต้องทิ้งของส่วนตัวให้ไว้ประดับร้าน เป็นอีกหนึ่งกิมมิกระดับโลกที่ไม่มีคาเฟ่ที่ไหนในโลกนี้สามารถทำได้อีกแล้ว  ว่ากันว่า โกดังที่เก็บของสะสมของเหล่าผู้มีชื่อเสียงก็ปาเข้าไปร่วม 70,000 ชิ้น ไม่อยากคิดเป็นตัวเงินเลยจริง ๆ

                สำหรับสาขาบางกอก ดำเนินงานโดยบริษัท HPL Holding Company ที่มีเจ้าของจากสัญชาติสิงค์โปร นอกจากจะเปิดที่สิงโปโตกแล้วนั้น สาขาบางกอกก็เปิดหลังจากนั้นเพียง 1 ปี และมีการ Grand Opening ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2534 (ค.ศ.1991) วันงานผู้ที่จะเข้าร้านได้นั้นจะต้องมีบัตรเชิญเท่านั้น ต่อแถวกันยาวเหยียดตามสไตล์ตะวันตก ซึ่งนั้นทำให้ได้ภาพข่าวที่สื่อฯ ต่าง ๆ นำไปเขียนถึงคาเฟ่ระดับโลกเปิดตัวและมีผู้มาร่วมงานระดับดารา เซเลปฯ ทั่วฟ้าเมืองไทยอย่างแท้จริง และอีกภาพข่าวที่สื่อฯ นำไปเล่นก็มีอาทิ ลูกค้าคนแรกของคาเฟ่ที่เป็นชาวต่างชาติมายืนรอด้านหน้า อารมณ์ดั่งกูนี่แหละ First is Forever ฮา (มาก่อนใครจะได้ซื้อไอโฟนเครื่องแรกเสียอีก)

                หลังจากที่พี่ชายเราได้ทำงานที่นี่ ก็เริ่มมีเสื้อโลโก้คาเฟ่มากมายหลากหลายสาขารวมถึงเข็มกลัดแต่ละสาขาทั่วโลกที่นำมาเทรดกันบ้างหรือไปเยือนมาบ้าง ส่องกันอย่างกะพระเครื่อง “เฮ้ยเข็มนี้จากสาขา...เลยนะมึง” แผนกเมอร์แชนไดส์ หรือ แผนกขายของที่ระลึกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เป็นหน้าตาของฮาร์ด ร็อค คาเฟ่ ซึ่งจะมีน้อยร้านอาหารกินดื่มในโลกนี้ที่สามารถจะทำได้ แบรนด์โลโก้ขายเป็นแฟชั่นอินเทรนด์ที่ครั้งหนึ่งใครมีใส่นี่ถึงกับร้องว้าว  จากการบอกเล่า การขายเสื้อที่ระลึกก็ไม่ได้สลับซับซ้อนอันใด เริ่มต้นจากการสนับสนุนทีมบอลระดับเยาวชนเล็ก ๆ โดยสกรีนโลโก้ Hard Rock Cafe บนเสื้อบอล หลังจากการเตะกระชับมิตรอะไรก็แล้วแต่ เสื้อทีมบอลก็ถูกถามไถ่ว่าขอซื้อได้ไหม ? แรก ๆ ทางทีมงานก็ไม่ได้คิดอะไรเพราะเสื้อมันเหลือก็เลยขายต่อ หลังจากนั้นก็มีคนมาซื้ออยู่เรื่อย ๆ จนเป็นที่มาของไอเดียเมิชร์ช็อปสร้างรายได้มหาศาล  แต่ใช่ว่าจะกว้านทำแต่กำไร คำขวัญ Save The Planet ก็ถือเป็น 1 ในกิจกรรมตอบแทนสังคม อาทิ การประมูลเข็มกลัดรายได้จากการประมูลนำไปทำสาธารณะกุศลต่อ

                หากใครทันอาคารสแตนด์อะโลนยุคแรก นอกจากหัวรถสามล้อแล้ว เราจะพบกับประโยค “อาณาจักร เพลงร้อค The Capitol Of Rock”  และนี่ก็คือที่มาของหลายศิลปินร็อกในบ้านเราที่เคยมาป้วนเปี้ยน ณ สถานที่แห่งนี้ อย่างวง House Band ที่เล่นประจำในยุคแรกก็มีวง The Fox ของน้า ช.อ้น ณ บางช้าง ตามด้วยวง The Boss และ The Kids ซึ่งแต่ละวงก็จะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนทุก 4 เดือนครั้งรวมถึงวงจากต่างประเทศที่จ้างมา และวงไทยหนึ่งเดียวที่เป็นวง House Band และได้ไปวนเล่นสาขาต่างประเทศก็คือวง Telefon ที่มีสมาชิกวง สมควร ศิระเลิศ (โจ้) เบสและหัวหน้าวง / พิเชษฐ์ บัวขำ (คิง The Voice) ร้องนำ / เซ็ตกัน ทอเรส (นักร้องหญิงฟิลิปปินส์) / สุทธานินทร์ พรมาลัยพงษ์ (โป๋) กีตาร์,ร้องนำ / วรุณ เรืองจินดา (คุกกี้) กีตาร์, ร้องนำ / โอม เปล่งขำ (โอม บอดี้แสลม) คีย์บอร์ด, ร้องนำ / สำราญ ศรีทรัพย์ (แอ๊ด) กลอง

                อาคารทั้งสามชั้นคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวและนักดนตรีเดินกันให้ควั่ก หลายวงหลายศิลปินรอคอยที่จะได้เล่นสด ๆ บนชั้น 3 โดยมีคุณวินิจ เลิศรัตนชัยจากคลื่นไพเรท ร็อกเป็นผู้ดำเนินงาน ประสบความสำเร็จกลับไปก็มี ได้เล่นโชว์สด ๆ ต่อหน้าผู้มีชื่เสียง เพียงเท่านี้ก็มีกำลังใจกลับไปสร้างผลงานเพลงกันแล้ว เช่นเดียวกับทีมงานฮาร์ด ร็อค คาเฟ่ ทุกคนที่ทุ่มเทด้วยหัวใจบริการยิ้มแย้มอย่างเป็นกันเอง จากคำบอกเล่าของ ป๋ากร หรือคุณสิทธิกร พนักงานยุคบุกเบิกที่ทุกวันนี้ก็ยังคงทำหน้าที่ Senior Operation Manager จนถึงวันสุดท้าย

                “ตอนพีค ๆ ที่นี่จะมีพนักงานทั้งหมดร่วม 160 – 170 คน แบ่งเป็น 2 กะจนบางคนทำงานที่เดียวกันแทบไม่รู้จักกันเลย  อย่างเคาท์เตอร์บาร์มีสตาฟ 14 คน แคชเชียร์ 20 คน พนักงานเซิฟ 28 คน กัปตันอีก 4 คนและผู้จัดการระดับสั่งการอีก 4 คน กระจายอยู่ทุกชั้นทุกมุมในร้าน นึกภาพดูตอนเดินเซอร์วิสจะวุ่นวายขนาดไหน แหวกลูกค้าในร้านเล่นเอาหอบ แล้วก็ที่นี่จะทำงานกัน 364 วัน มีวันหยุดปีละครั้งแค่ 1 วันคือวัน Staff’s Day” 

                เรื่องขำ ๆ ในร้านป๋ากรก็เล่าให้ฟัง อย่างการสื่อสารด้วยสำเนียงภาษาอังกฤษของแต่ละประเทศ “มีอยู่ครั้งนึง นักดนตรีชาวฟิลิปปินส์นัดกันมาที่ร้านแล้วออกไปทำธุระ พอกลับมาก็ทักทาย Hi Again พร้อมโบกมือให้ เท่านั่นแหละพนักงานเสิรฟเดินกลับไปหาพร้อมเบียร์ไฮเนเก้น 2 ขวด ถึงกับหน้าเหวอ เฮ้ยไม่ได้สั่ง แค่ทักว่าไฮ อะเกน เฉย ๆ โว้ย ฮาฮาฮา”  และอีกหนึ่งกิจกรรมของเหล่าสตาฟที่มาก่อนกาล “ครั้นพี่ ช.อ้น เล่นเพลง Twist and Shout ของคณะ The Beatles พนักงานในเคาท์เตอร์บาร์ต่างพร้อมใจกันกระโดดขึ้นบนบาร์ที่เป็นรูปคอกีตาร์ผ่าครึ่งซีก เต้นกันยับจนลูกค้าต่างสนุกไปด้วย เพิ่มดีกรีความเร้าร้อนมื้อดินเนอร์และเครื่องดื่มเย็น ๆ ของผู้มาเยือน”  ป๋ากรเล่าความหลังให้ฟังด้วยเสียงสั่น ๆ เล็กน้อย จนผมแอบเห็นป๋ากรน้ำตาเอ่อ

                ไม่น่าเชื่อว่าวัยเยาว์ 30 ปีที่แล้วเราได้นั่งฟังเรื่อง Hard Rock Cafe มาเปิดสาขาบากอกจากพี่ชายด้วยความตื่นเต้น เพราะเรารักและชอบเสียงเพลง ได้ไปเยือนครั้งนึงและได้เห็นบาร์คอกีตาร์ขนาดยาว ลูกค้าแน่นร้าน เสื้อที่ระลึกขายจนแทบเกลี้ยงร้าน จนถึงวันอำลา 30 ปีให้หลัง เราได้นั่งฟังเรื่องเล่าจากป๋ากร และ น้ำ มาร์เก็ตติ้งสาวสวยที่เคยชักชวนเราให้มาช่วยกิจกรรมประกวดดนตรี Hard Rock Rising เมื่อ 7 ปีที่แล้ว  บทความอำลาชิ้นนี้ มันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแล้วละ

                 

               

 
 
 Blastmag 2016. All right